โครงการสำรวจ ศึกษา และดำเนินงานแผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน
979/ 116-120 อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ชั้น 15 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ 08-5060-2829
ถอดความรู้ เก็บประเด็นจากวงเสวนาระดมความคิด “เบิกทางหนังสือเด็กปฐมวัย สู่วาระการอ่านแห่งชาติ”
วันเสาร์ที่ 5 กันยายน 2552 เวลา 12.30-16.00 น. ณ ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
อาจเรียกว่าเป็นครั้งแรกที่นักสร้างสรรค์หนังสือเด็ก ทั้งผู้บริหาร บรรณาธิการ กว่า 40 ชีวิต ได้มาร่วม
ถกปัญหาและร่วมเสนอแนะหาทางออกเพื่อ “เบิกทาง” เกี่ยวกับหนังสือเด็กปฐมวัย ผ่านการเชื้อเชิญของโครงการสำรวจ ศึกษา และดำเนินงานแผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน” (สส.วอ.) ซึ่งแม้จะเป็นหน่วยงานที่เพิ่งเริ่มก่อรูปก่อร่าง แต่ก็มีเป้าหมายชัดเจน คือการคัดสรรหนังสือดีสู่มือเด็ก (โดยเฉพาะเด็กที่ยังขาดโอกาส) และเสริมสร้างรากฐานทางวิชาการเกี่ยวกับหนังสือเด็กปฐมวัย
ความคิดเห็นอันหลากหลายที่เกิดจากการรวมตัวกันในวันนี้มีค่ายิ่ง เพราะจะกลายเป็นพลังเรียกร้องที่ส่งผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันให้เกิดมาตรการต่างๆ อันสนับสนุนและส่งเสริม ”วาระการอ่านแห่งชาติ” อย่างแท้จริง
ต้องเริ่มที่คนรอบตัวเด็ก ไม่ใช่เริ่มที่ตัวเด็ก
“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวหนังสือ แต่อยู่ที่ตัวองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับหนังสือภาพสำหรับเด็ก”
ครูชีวัน วิสาสะ นักสร้างสรรค์หนังสือเด็กที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เปิดการเสวนา ด้วยการหยิบยกเอาอุปสรรคของวงการหนังสือเด็กปฐมวัยมาชี้ให้เห็นรอยโหว่ที่ต้องเร่งแก้ไข
ปรมาจารย์นักสร้างสรรค์หนังสือเด็กมองว่า การให้หนังสือภาพสำหรับเด็กถูกนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของหนังสือเป็นหลัก แต่ขึ้นอยู่กับบริบทรายรอบตัวเด็ก ซึ่งหมายถึงคนหลากหลายกลุ่มที่แวดล้อมตัวเด็กอยู่ ตั้งแต่ พ่อแม่ ครูอนุบาล/ครูปฐมวัย รวมทั้ง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. ซึ่งยังมองไม่เห็นค่าความสำคัญ ของเด็กกับการอ่านหนังสือ
ปัญหาขาดแคลนนักเขียน
ในขณะที่คุณสมศักดิ์ เตชะเกษม ประธานกรรมการ บริษัทสำนักพิมพ์บรรณกิจ มองผ่านมุมของผู้บริหารที่เห็นว่าปัญหาของวงการหนังสือเด็กอยู่ที่ “นักเขียนภาพ” ทั้งการขาดแคลนนักเขียนภาพฝีมือดี ทั้งที่มีเรื่องให้เขียนรออยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งความเป็นศิลปินของนักเขียนที่มีต่อเสียงท้วงติงจากกองบรรณาธิการ
แต่ทางด้านคุณสุชาดา สหัสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พาส เอ็ดดูเคชั่น มองว่า ปัญหาของผู้ผลิตหนังสือเด็กไม่ได้อยู่ที่ขาดคนเขียนภาพ แต่อยู่ที่ขาดคน “เขียนเรื่อง” สาเหตุอาจเป็นเพราะ ในบ้านเรายังไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับหนังสือภาพสำหรับเด็กโดยตรง ในประเด็นนี้ คุณอรชร ตั้งวงษ์เจริญ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ เห็นด้วยว่า มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาของไทยต้องช่วยพัฒนาหลักสูตร ทั้งการเขียนเรื่อง-และการวาดภาพสำหรับหนังสือเด็ก เช่นเดียวกับคุณวิริยา วงศ์วัชระกุศล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด สำนักพิมพ์อักษรา ฟอร์ คิดส์ ที่เห็นว่า ปัญหาของผู้ผลิตคือขาดคนวาด ขาดคนเขียนหนังสือเด็กที่เข้าใจเรื่องของเด็กอย่างแท้จริง
กำแพงสูง (ที่รอวันทลาย) จากภาครัฐ
ส่วนความเห็นที่คุณศิวโรจน์ ด่านศมสถิต กรรมการผู้จัดการ บริษัทสำนักพิมพ์ห้องเรียนนำเสนอก็คือ
“ผมอยากเห็นเสรีภาพที่เปิดกว้าง”
เพราะมองว่าปัญหาของวงการหนังสือเด็กที่เรียกได้ว่า “อันตราย” อย่างยิ่ง คือการผูกขาดของระบบตลาด ที่เป็นกำแพงกั้นจากภาครัฐอยู่ทุกวันนี้ แต่หากเมื่อไหร่ก็ตามที่สามารถทลายกำแพงให้ลดลง ความหลากหลายของหนังสือเด็กก็จะเกิด คุณภาพที่ดีก็จะตามมา ซึ่งในประเด็นนี้คุณผ่องเพ็ญ อาชาเทวัญ ประธานกรรมการสำนักพิมพ์สกายบุ๊คส์ ก็เห็นด้วยเช่นกันว่า อุปสรรคของการทำงานของสำนักพิมพ์เล็กๆ คือไม่อาจเติบโตได้ เพราะมีการผูกขาดจากแบรนด์ขนาดใหญ่ ที่เติบโต และฝังรากลึกในสังคมไทยมาช้านาน
ยิ่งคัดสรร-ยิ่งปิดโอกาส?
อีกประเด็นที่คุณศิวโรจน์เสนอแนะก็คือ แนวทางในการคัดเลือกหนังสือดี ผู้คัดสรรต้องใคร่ครวญถึงคำถามที่ว่า “เราจะวัดคุณค่าของการคัดสรรกันอย่างไร?” เพราะเชื่อว่า ยิ่งการคัดเลือกหนังสือดีเปิดกว้างเท่าไหร่ ยิ่งเป็นโอกาสสำหรับทั้งผู้สร้างสรรค์และผู้อ่านมากเท่านั้น ที่สำคัญคือ อย่าได้ติดยึดว่าหนังสือดีคือหนังสือที่ได้รางวัล แต่ต้องเปิดใจให้กว้างฟังเสียงความนิยม ความชื่นชมของกลุ่มผู้อ่านอย่างแท้จริงด้วย สิ่งหนึ่งที่จะช่วยในการคัดสรรก็คือ การประเมินคุณค่าจาก “ภาควิชาการ” ซึ่งหมายถึงการนำผลการวิจัย นำเสนอสู่ประชาชน เพราะผลทางวิชาการจะเป็นมูลฐานอันแข็งแรงที่สุดที่จะช่วยให้ประชาชนยอมรับได้
นอกจากนี้เขายังเห็นว่า สสส. (สส.วอ.-สสย.) ควรเป็นสื่อกลางในการเปิดเวทีวิชาการ โดยนำเสนองานวิชาการแง่มุมใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่อง BBL (Brain-Based Learning) หรือ Thinking Skill เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจแก่คนในสังคมว่าหนังสือมีข้อดีต่อเด็กแค่ไหน อย่างไร
และเมื่อมีผลทางวิชาการเกิดขึ้นแล้ว หนทางหนึ่งที่จะช่วยให้แนวคิด ทฤษฎีด้านการอ่าน เผยแพร่ในวงกว้างได้ก็คือ “ชุมชนทางอินเทอร์เน็ต” หรือการเผยแพร่ผ่านบล็อคต่างๆ รวมทั้งการนำเสนอผลงานการสร้างสรรค์หนังสือภาพผ่านอินเทอร์เน็ตด้วย ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยคัดกรองคุณภาพ และสร้างมาตรฐานของหนังสือเด็ก
“ชุมชนทางอินเทอร์เน็ตจะช่วยให้คนเชื่อมั่นในพลังการวินิจฉัย (หนังสือเด็ก) และเกิดความหลากหลายของหนังสือด้วย
เว็บไซต์กลางของ “ชุมชนนักเขียนภาพประกอบ” หรือชุมชน Illustration/ Illustrator จะช่วยเพิ่มโอกาสให้นักเขียนที่โพสต์ประวัติ-ผลงานของตัวเองลงไป ได้เผยแพร่ความสามารถของตัวเองในวงกว้าง ซึ่งชุมชนนักเขียนภาพประกอบนี้ก็จะกลายเป็นพื้นที่เชื่อมโยงคนที่มี “คอเดียวกัน” (คนเขียนเรื่อง-คนเขียนภาพ) ได้มาทำงานร่วมกัน ได้เห็นความหลากหลาย และ
“สิ่งที่ไม่ได้ถูกเลือกในที่หนึ่งอาจเหมาะสมกับอีกที่หนึ่งก็ได้”
ด้านสำนักพิมพ์ก้อนเมฆก็เห็นด้วยที่ สส.วอ. (สสย.) จะเป็นสื่อกลางในการเปิดพื้นที่ทางเว็บไซต์ โดยเสริมว่าในเว็บไซต์กลางนี้ควรเปิดพื้นที่ให้พ่อแม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ (review) หนังสือเด็กคล้ายกับเว็บไซต์อเมซอน (www.amazon.com)
ขณะที่คุณสุชาดา ประธานสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ก็ร่วมแสดงความเห็นในปัญหาการคัดสรรหนังสือเด็กว่าบางโอกาสสำนักพิมพ์ขาดความร่วมมือในการส่งหนังสือเด็กเข้าคัดสรร จากสมาชิกที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 500 แห่ง ก็ส่งมาคัดสรรเพียงครึ่งเดียว ทำให้จำนวนที่ได้รับมีเพียงประมาณ 2,000 ปก ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก จึงมองว่าหากต้องการให้การคัดสรร เป็นการกลั่นกรองคุณภาพของหนังสือเด็กอย่างแท้จริง ต้องเริ่มต้นจากการหาหนทางให้สำนักพิมพ์ส่งปริมาณหนังสือเข้าสู่กระบวนการคัดสรรเป็นจำนวนมากเสียก่อน
ยังมีความเห็นในเรื่องการคัดสรรหนังสือจาก คุณวรินทร์เนตร ศิริโชติชำนาญ กรรมการผู้จัดการบริษัท Be Amazing Edutainment ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก “ขบวนการนักอ่าน” ซึ่งนำประสบการณ์จากการจัดรายการโทรทัศน์ของตนเองมาเล่าว่า ในรายการมีช่วงของการคัดสรรหนังสือเช่นกัน ซึ่งเธอก็ใช้วิธีเปิดกว้างให้ทุกสำนักพิมพ์มีโอกาสนำเสนอตัวเองอย่างเท่าเทียม และแม้จะมีหนังสือที่ถูกเลือกมานำเสนอในรายการแล้ว แต่ก็ทิ้งท้ายบอกผู้ชมเสมอว่าหนังสือดีไม่ได้มีเพียงเล่มเดียวแต่ยังมีอีกมากมายรอให้เปิดอ่าน
หนังสือเด็ก-หนังสือชั้น 2
แต่ปัญหาที่ประธานสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ หนักใจที่สุด คือเรื่อง “การจัดจำหน่าย” ซึ่งจากการสำรวจทั่วประเทศพบว่าร้านหนังสือที่เปิดพื้นที่ให้กับหนังสือเด็กนั้นคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
“ชั้นหนังสือเด็กจะไม่เคยปรากฏหน้าร้านเลย” คุณสุชาดามองว่าสาเหตุอาจเป็นเพราะมีกลุ่มผู้บริโภคน้อย พ่อแม่ยังไม่รู้จัก ไม่คิดที่จะซื้อหนังสือเด็กมากนัก รวมทั้งอาจเป็นเพราะสาเหตุจากครูที่ไม่สามารถเลือกหนังสือได้เอง เพราะถูกผู้ใหญ่บังคับหรือถูกกำหนดมาล่วงหน้าแล้ว
ซึ่งในเรื่องนี้ คุณรุ่งโรจน์ อาชาเทวัญ ผู้จัดการทั่วไป สำนักพิมพ์สกายบุ๊กส์ก็เห็นด้วยว่า สถานะของหนังสือเด็กในร้านหนังสือนั้นยังเป็นรองหนังสือสำหรับผู้อ่านกลุ่มอายุอื่นๆ อยู่มาก เพราะหนังสือเด็กมักไปซ่อนอยู่ในซอกหลืบของร้านเสมอ ส่วนประเด็นเรื่องครูเลือกหนังสือเองไม่ได้นั้น มองว่าเป็นปัญหาจากระบบผูกขาดการซื้อขาย ที่มีมาช้านาน
ส่วนทางด้านคุณวิริยา วงศ์วัชระกุศล จากสำนักพิมพ์อักษรา ฟอร์ คิดส์ ก็เห็นด้วยกับเรื่องพื้นที่สำหรับหนังสือเด็กในร้านหนังสือที่มีจำนวนจำกัด ซึ่งทางสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือในราคาไม่แพง คือ 20-55 บาทต่อเล่มนั้น แม้จะขายได้จำนวนมากแต่ก็ยังได้กำไรน้อย
ต้องกำหนดช่วงอายุของผู้อ่านหนังสือเด็กหรือไม่?
ส่วนเรื่องการหาเกณฑ์เพื่อกำหนดช่วงอายุของกลุ่มผู้อ่านหนังสือเด็กยังคงมีข้อถกเถียงทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยคุณรุ่งโรจน์ มองว่า ผู้ผลิตหนังสือเด็กควรหาเกณฑ์กำหนดช่วงอายุให้เหมือนกันทุกสำนักพิมพ์ และระบุไว้บนปกหนังสือ เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่คุณศิวโรจน์ กลับมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องหากฎเกณฑ์ตายตัวในเรื่องนี้ เพราะในต่างประเทศก็ใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป
“ข้อขัดแย้ง หรือความแตกต่างเกิดขึ้นบ้างเป็นสิ่งดี เราไม่ควรไปตีกรอบเรื่องนี้”
เมื่อกล่าวถึงข้อขัดแย้ง ครูชีวัน วิสาสะ ก็ได้ตั้งข้อคิดทิ้งท้ายแนวทางการคัดเลือก การประกวดหนังสือดีในสังคมไทยไว้ว่า “มันมากเกินไปหรือเปล่า?” สังคมกำลังถูกกฏเกณฑ์บางอย่างครอบงำหรือไม่ ควรจะมีการตั้งคำถามแย้งคณะกรรมการประกวดตัดสินเกิดขึ้นบ้าง
สรุปการเสวนา
หัวข้อ | ข้อคิดเห็นจากการเสวนา |
อุปสรรค
| -บริบทรอบตัวเด็ก โดยเฉพาะคนในสังคม ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในหนังสือเด็ก ทั้งพ่อ-แม่ ครู อบต. - ตัวผู้ผลิต (ผู้สร้างสรรค์ภาพ-เขียนเรื่อง) ยังขาดแคลน -หลักสูตรการศึกษาการเรียนการสอนนักสร้างสรรค์หนังสือเด็กยังมีน้อย - การเปิดพื้นที่ให้กับหนังสือเด็กของร้านหนังสือยังคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับหนังสือสำหรับกลุ่มอายุอื่น |
ทางออก/ข้อเสนอแนะ | ข้อเสนอแนะต่อ สส.วอ. (สสย. และ สสส.) - ควรหามาตรฐานจากงานวิจัย งานเชิงวิชาการเป็นเกณฑ์ในการคัดสรร รวมทั้งเปิดพื้นที่ทางเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่งานวิชาการและพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นสื่อกลางทั้งนักเขียนเรื่อง-เขียนภาพ รวมทั้งพ่อแม่ (ผู้อ่าน) จะได้ร่วมกันประเมินคุณค่าหนังสือเพื่อเกิดความหลากหลายของหนังสือ อีกทั้งสร้างมาตรฐาน/คุณภาพหนังสือเด็กร่วมกัน (เพื่อป้องกัน/ขจัดการคัดสรร-ให้รางวัลแต่ละสำนักที่อาจถูกมองว่าไม่เป็นธรรม) ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล |
ประเด็นอื่นๆ ในวงเสวนา
สำนักพิมพ์/ผู้เสนอความเห็น | ข้อคิดเห็น |
รายการขบวนการนักอ่าน
นานมีบุ๊คส์ | สถานการณ์ของหนังสือเด็กปัจจุบัน - พ่อแม่รุ่นใหม่เริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ตั้งครรภ์ แสดงถึงการเห็นความสำคัญของการอ่านในสังคมที่มากขึ้น - ตลาดหนังสือเด็กเติบโตขึ้น มีอุปทาน (demand) ในสังคมสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสของสำนักพิมพ์หนังสือสำหรับเด็ก แต่ปัญหาคือกลุ่มผู้ผลิตยังไม่มีพลังมากพอ |
สำนักพิมพ์ก้อนเมฆ
| ข้อเสนอแนะต่อผู้ผลิตหนังสือ คือการให้ความสำคัญกับคนขายหนังสือ หากสามารถแนะนำพ่อแม่ถึงวิธีการใช้หนังสือกับเด็กอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของหนังสือได้เต็มที่ |
นานมีบุ๊คส์ | แนวทางเสริมที่จะทำให้คนไทยเห็นคุณค่าในการอ่านหนังสือ อยู่ที่การเปิดพื้นที่ของสื่อ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์จะมีพลังในการปลุกกระแสรักการอ่านได้มากที่สุด |
สกายบุ๊กส์ | ข้อเสนอแนะต่อผู้ผลิต-ผู้ปกครอง ควรสร้างจิตสำนึกรักหนังสือ (ถนอมหนังสือ) ให้กับเด็กนอกเหนือไปจากการรักการอ่านด้วย |
บ้านดรุณ | ข้อเสนอต่อรัฐควรช่วยส่งเสริมให้มีหนังสือในห้องสมุดโรงเรียนมากขึ้นเพื่อให้เด็กเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น |
หลังเสร็จสิ้นการเสวนาก็เข้าสู่ ข้อเรียกร้องเรื่อง “นโยบายหนังสือเด็กปฐมวัยต่อนายกรัฐมนตรี”ซึ่งเครือข่ายสร้างสรรค์หนังสือเด็กปฐมวัย ที่ประกอบด้วยองค์กร 23 องค์กร ก็ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมจากประเด็นในการยกร่างของ สส.วอ. ดังนี้
สำนักพิมพ์/ ผู้เสนอข้อเรียกร้อง | ประเด็นที่เรียกร้อง | ยุทธศาสตร์ด้าน 1/2/3[1] |
---|---|---|
สกายบุ๊กส์
สมาคมผู้จัดพิมพ์ | - มาตรการภาษีสำหรับผู้ผลิตหนังสือ/สำนักพิมพ์ แม้ปัจจุบันได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเข้า Vat แต่ยังมีค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิตอื่นๆ อยู่ จึงต้องการเสนอให้เข้า Vat แต่ให้ Vat เป็น 0 - สมาคมเคยดำเนินการเรื่องการยกเว้นภาษีนำเสนอต่อรัฐมนตรีคลังแล้วและทางรมต. แจ้งเรื่องขอข้อมูลประกอบด้านการสูญเสียรายได้ของรัฐ เทียบส่วนประโยชน์อันจะเกิดขึ้น ซึ่ง สสย. กำลังดำเนินการในเรื่องนี้ | 1 |
บรรณกิจ | เสนอให้ สส.วอ-สสส. หาแนวร่วมจากองค์กรท้องถิ่นของรัฐ คือผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักการศึกษา กทม. รวมทั้ง อบจ. และ อบต. โดยเฉพาะ อบต. เชิญเข้ามาเป็นคณะกรรมการในการจัดทำโครงการบ่มเพาะการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในคุณค่าของการอ่านหนังสือสำหรับเด็ก และเพื่อสร้างโอกาสในการเผยแพร่หนังสือให้กระจายถึงมือเด็กทั่วประเทศด้วย | 2 และ 3 |
ห้องเรียน | - เน้นการส่งเสริมงานวิจัย งานวิชาการหนังสือเด็กให้มากขึ้น - เน้นการสร้างเว็บไซต์เพื่อเป็นพื้นที่ทางสังคมให้เกิดการยอมรับ ให้เหมือนเว็บไซต์อย่างพันทิป หรือ OK Nation เพื่อเข้ามาพยุงความยั่งยืนของโครงการ (เพราะแม้โครงการอาจจบสิ้นลง แต่ชุมชนทางเว็บไซต์ยังเปิดพื้นที่ทางสังคมคอยขับเคลื่อนเจตนารมณ์รักการอ่านต่อไปได้) | 1 3 |
ขบวนการนักอ่าน
มูลนิธิเด็ก | -เสนอให้มีการเพิ่มศักยภาพนักเขียน-นักสร้างสรรค์หนังสือเด็ก โดยการจัดอบรมให้มากขึ้น -ผู้สร้างสรรค์หนังสือเด็กปัจจุบันยังไม่ค่อยใส่องค์ความรู้ หรือให้ความรู้ลงไปในหนังสือสำหรับเด็ก เพื่อความหลากหลายนอกเหนือไปจากนิทาน -ขาดคนที่จะเข้ามาทำงานในอาชีพนักสร้างสรรค์หนังสือเด็ก จึงเรียกร้องให้จัดอบรมผู้ผลิต นักเขียนเพื่อให้มีจำนวนมากขึ้น หรือหาทางสร้างแรงจูงใจให้นักเขียนเข้าสู่วงการมากขึ้น | 1
1 |
นานมีบุ๊คส์ | ควรมีหน่วยงานกลาง ที่ช่วยสนับสนุนนักเขียนหนังสือหน้าใหม่ ให้มีรายได้มากขึ้น ชื่อเสียงดีขึ้น เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพของนักเขียนไทยที่สามารถ “โกอินเตอร์” ได้ | 1 |
นานมีบุ๊คส์ | ประเทศไทยควรมี “เจ้าภาพ” จัดตั้งสถาบันหรือสำนักงานเพื่อเสริมสร้างการอ่านแห่งชาติขึ้นเหมือนเกาหลีใต้ ที่มีสำนักงานวรรณกรรมแห่งชาติ หรือ KLTI เพื่อเป็นหน่วยงานในการคัดสรรผลงานหนังสือที่มีคุณภาพ รวมถึงการออกมาตรการส่งเสริมนักเขียน-นักวาดภาพประกอบให้อยู่ในอาชีพได้ เช่น KLTI นั้นสนับสนุนผลงานของนักเขียนในด้านการแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อการ “โกอินเตอร์” นอกจากนี้ยังมีการพานักเขียนตระเวนไปทั่วประเทศเพื่อเผยแพร่ผลงานและพบปะผู้อ่านโดยตรง | 3 |
นานมีบุ๊คส์ | รัฐควรดึงให้ไปรษณีย์ไทยเข้ามาเป็นพันธมิตรเพื่อมีส่วนร่วมในการลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการจัดส่งหนังสือ เพื่อบทบาทการกระจายหนังสือสู่มือเด็กได้กว้างขวางขึ้น | 2 |
ครูชีวัน วิสาสะ | การจัดทำงานวิจัย วิชาการ ต้องระมัดระวัง ตั้งคำถามให้ดีว่าทำขึ้นมาเพื่อใคร ไม่ควรทำเพื่อสำนักพิมพ์ | 1 |
พาส เอ็ดดูเคชั่น | สร้างศูนย์กลางแหล่งหนังสือ/ห้องสมุดหนังสือ ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายดาย เหมือนเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ โดยเสนอแนะให้ “วัด” เป็นศูนย์กลางในการรวมหนังสือ และรวมผู้อ่านเข้าไว้ด้วยกัน |
|
จัดทำโดย ทีมงานวิชาการ โครงการสำรวจ ศึกษา และดำเนินงาน แผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน
(8 กันยายน 2552)
ทั้งนี้ คณะทำงานจะประมวล ยกร่าง ข้อเรียกร้องในครั้งนี้ มาเป็นรูปธรรมในการเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป และเปิดโอกาสให้องค์กร นักสร้างสรรค์หนังสือเด็ก และสำนักพิมพ์ ผู้ผลิตหนังสือเด็กปฐมวัย สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม และส่งหนังสือเข้าร่วมการคัดสรร ได้ที่ โครงการสำรวจ ศึกษา และดำเนินงานแผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน 979/ 116-120 อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ชั้น 15 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2552 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณนันทศิริ ญาณจันทร์ ผู้ประสานงานโครงการฯ โทรศัพท์ 0-2298-0222 ต่อ 208 โทรศัพท์มือถือ 085-060-2829 จดหมายอิเล็คโทรนิค: theproject.ssi@gmail.com
[1] ยุทธศาสตร์ด้านที่ 1 หมายถึง ยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้มีหนังสือเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม
ยุทธศาสตร์ด้านที่ 2 หมายถึง ยุทธศาสตร์การกระจายหนังสือให้เข้าถึงเด็ก
ยุทธศาสตร์ด้านที่ 3 หมายถึง ยุทธศาสตร์รณรงค์ให้เกิดความต้องการและพฤติกรรมการอ่านเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน
--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
blog
http://ktblog1951.blogspot.com/ monday
http://sunblog1951.blogspot.com/ sunday
http://www.ksmecare.com/docSeminar/520902031848987.pdf
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น