To:
Sent: Thursday, September 3, 2009 1:49:34 PM
Subject: รวมกองทุนประกันสุขภาพ
ระบบประกันสุขภาพ 3 ระบบในประเทศไทย
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ที่ปรึกษาสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
มีข่าวว่าสำนักงานประกันสังคม (สปส)จะขยายสิทธิรักษาพยาบาลคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตนโดยสปส.ได้จัดการสัมนาร่วมระหว่างสปส กรมบัญชีกลาง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อเร็วๆนี้ (1)นั้น ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ได้กล่าวว่า
การรวมกองทนในการรักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุนนั้นคงทำได้ยาก เพราะการบริหารจัดการกองทุนนั้นแตกต่างกัน โดยกองทุนสวัสดิการข้าราชการใช้เงินบริหารไม่ถึง 0.1% ในขณะที่กองทุนสปสช.ใช้เงินบริหารถึง 1,000 ล้านบาท ส่วนกองทุนประกันสังคมที่ดูแลสิทธิประโยชน์อื่นของผู้ประกันตนด้วยใช้เงินบริหารเพียง 200-300 ล้านบาท จะเห็นว่า รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณสูงมากในการจ้างสปสช.มาบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในขณะที่กองทุนข้าราชการ ก็เป็นภาระของกรมบัญชีกลาง ไม่ต้องเสียงบประมาณมาจ้างผู้บริหารใหม่
ถ้าเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ของผู้ที่ได้รับจากกองทุนทั้ง 3 นี้ ยิ่งจะมีความแตกต่างกันแบบสุดขั้ว แบบฟ้ากับเหว คือ
1.ในระบบหลักประกันสุขภาพของสปสช. (รับเงินจากงบประมาณรัฐบาลที่มาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ) เพื่อจ่ายแทนประชาชน 47 ล้านคนไม่ว่ารวยหรือจน ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลไม่อั้น โดยไม่ต้องจ่ายเงินของตนเองเลย กลุ่มนี้ถือว่าได้ประโยชน์สูงสุด ตรวจรักษาได้ไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่พอใจผลการรักษายังเรียกร้องเงินชดเชยได้สูงสุด 200,000 บาทโดยยังไม่ต้องไปฟ้องศาล ถ้ายังไม่พอใจก็ไปฟ้องศาลได้อีก
2.ระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ มีข้าราชการและครอบครัวประมาณ 10ล้านคน ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยเท่านั้น (ไม่ครอบคลุมการป้องกันโรค ฉีดวัคซีน ตรวจสุขภาพ) กลุ่มนี้เป็นผู้ยอมทำงานราชการรับใช้ประชาชนด้วยเงินเดือนน้อย จึงจะมีสิทธิได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล แต่รัฐบาลกำลังมองว่า กลุ่มข้าราชการใช้เงินงบประมาณในการรักษาพยาบาลมากเกินไป และมีประกาศจากกรมบัญชีกลางมาห้ามไม่ให้ข้าราชการเบิกยาต่างๆหลายรายการ สรุปแล้วได้สิทธิประโยชน์น้อยกว่ากลุ่มสปสช.
ขออธิบายว่า ทำไมค่ารักษาพยาบาลในระบบข้าราชการจึงเพิ่มมากผิดสังเกตดังนี้
คำถาม ทำไมกรมบัญชีกลางจึงอ้างว่ากลุ่มสวัสดิการข้าราชการนี้ใช้เงินค่ารักษาพยาบาลสูงมากอย่างผิดสังเกต ?
คำตอบ เนื่องจากเมื่อก่อนที่จะมีการประกาศใช้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพ.ศ. 2545 โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขคิดค่ารักษาพยาบาลถูกมากแทบไม่มีกำไรเลย เพื่อเป็นสวัสดิการให้ประชาชนทั่วไป ต่อมาเมื่อประกาศใช้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 แล้ว โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขถูกตัดงบประมาณค่าดำเนินการลงทั้งหมด เพราะงบประมาณส่วนใหญ่ต้องเอาไปจ่ายผ่านคนกลางคือสปสช..เพื่อเอามาจ่ายให้โรงพยาบาลอีกที แม้แต่เงินเดือนข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องรับส่วนหนึ่งมาจากงบสปสช. แต่งบประมาณรายหัวค่ารักษานี้ต้องถูกหักเป็นเงินเดือน และเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกมากมาย ทำให้โรงพยาบาลมีเงินงบประมาณไม่เพียงพอที่จะให้บริการการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานได้
โรงพยาบาลระดับสูงบางแห่งที่รักษาผู้ป่วยหนักและซับซ้อน จะได้เงินค่ารักษาผู้ป่วยเพียง 25 % ของค่าใช้จ่ายจริง
แทนที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจะร้องของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล (หรือขอแล้วแต่รัฐบาลไม่มีจ่าย ให้ประหยัดเอาเอง) ผู้บริหารกระทรวงจึงสั่งให้โรงพยาบาลขึ้นราคาค่าบริการรักษาพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าเตียง ค่าห้องฯลฯ เพื่อจะได้เก็บเอาจากกลุ่มข้าราชการหรือกลุ่มสปส.หรือกลุ่มคนที่ไม่มีสิทธิใดๆมากขึ้น เพื่อเอาเงินส่วนนี้มา "โปะ" เงินที่รักษากลุ่มสปสช.ที่ได้มาไม่เท่ากับที่โรงพยาบาลต้องจ่ายจริง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของกลุ่มข้าราชการและกลุ่มอื่นๆสูงขึ้น รวมทั้งสปสช.เองก็ต้องร้องของบประมาณรายหัวเพิ่มขึ้นทุกปี
ขอยกตัวอย่างดังนี้คือ เมื่อก่อนนี้ไปโรงพยาบาลรัฐบาล ค่าทำบัตรฟรี ค่าตรวจร่างกาย 20 บาท ค่าเอ๊กซเรย์ปอด 80 บาท เดี๋ยวนี้ เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% เช่น ค่าทำบัตร 20 บาท ค่าตรวจร่างกาย 80-200 บาท ค่าเอ๊กซเรย์ปอด 200 บาท ค่ายา ค่าห้อง และอื่นๆ เพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล เกือบเท่าโรงพยาบาลเอกชนแล้ว
นี่จึงเป็นเหตุผลที่อธิบายแก่รัฐบาลและกรมบัญชีกลางว่าทำไมค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวจึงเพิ่มขึ้นมาก
3. ประชาชนที่เป็นลูกจ้างเอกชน ต้องจ่ายเงินเดือนค่าจ้างของตนเองสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนๆละ 5% (และลดลงมาเหลือ 3% ในระยะ 6 เดือนนี้) จึงจะมีสิทธิ์ได้รับการรักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่รวมสิทธิ์การตรวจสุขภาพ ตรวจคัดกรองหรือป้องกันโรค บางโรคก็ไม่คุ้มครองด้วยซ้ำ
นับว่าประชาชนกลุ่มประกันสังคมเป็นพวกด้อยสิทธิ์ที่สุดในการได้รับการประกันสุขภาพ และถ้าได้รับผลเสียหายจากการรักษาก็ต้องไปฟ้องศาลเอาเองจึงจะได้รับค่าชดเชย
คำถามว่า ควรจะรวมกองทุนการรักษาพยาบาลหรือการประกันสุขภาพหรือไม่?
คำตอบ
ประชาชนไทยถูกแบ่งแยกเป็น 3 กลุ่มตามสิทธิประกันสุขภาพคือ
1.ประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศคือ 47 ล้านคน ได้รับสิทธิการประกันสุขภาพแบบ "ไม่อั้น" โดยไม่ต้องจ่ายเงินในการ "ประกันสุขภาพ" ของตนเองเลย นอกจากการเสียภาษี เหมือนประชาชนไทยคนอื่นๆ
2.ประชาชนอีก 10 ล้านคน ยอมทำงานเงินราชการมีเงินเดือนไม่ค่อยจะพอใช้ (มีคนให้ข้อสังเกตว่า รัฐบาลจ่ายเงินเดือนข้าราชการไม่พอใช้ เป็นข้าราชการครูก็ต้องไปสอนพิเศษ เป็นแพทย์พยาบาลก็ต้องไปเปิดคลินิก รับงานนอกราชการ เป็นตำรวจก็ต้องไปเก็บ...จากประชาชน จึงจะมีเงินพอใช้จ่ายในครอบครัว )จึงจะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล
3.ประชาชนอีกประมาณ 9 ล้านคน ที่เป็นกลุ่มผู้ต้องประกันตนตามพ.ร.บ.ประกันสังคมนอกจากจะต้องทำงานหนัก เงินเดือนน้อยแล้วยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันสุขภาพเหมือนประชาชนอื่นๆทั้งๆที่ก็ต้องเสียภาษีเหมือนกัน
ถ้ารัฐบาลจะรวมกองทุนรักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุนนี้เข้าด้วยกัน ก็คงจะต้องพิจารณาถึง "สิทธิ เสมอภาค เท่าเทียม มีมาตรฐาน ปลอดภัย" ของประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ด้วย
อนึ่งระบบการประกันสุขภาพหรือประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการนี้เป็นระบบ "จ่ายก่อนแบบปลายเปิด" ทำให้ประชาชนมาเรียกร้องสิทธิในการรักษาพยาบาลแบบไม่อั้น เพราะไม่ต้องรับผิดชอบ "ร่วมจ่ายเงินของตนเอง" แต่อย่างใด ทำให้ประชาชนมาเรียกร้องการตรวจรักษาโดยไม่มีขอบเขตจำกัด ส่งผลให้มีการใช้บริการทางการแพทย์อย่างฟุ่มเฟือย ได้รับยาไปแล้ว กินไป1-2 วัน ก็ไม่พอใจเปลี่ยนโรงพยาบาล ไปตรวจใหม่ ขอยาใหม่ ทำให้งบประมาณจากภาษีอากรของประชาชนถูกใช้ไปอย่างไม่คุ้มค่าและสิ้นเปลืองสูง รวมทั้งยังเพิ่มภาระงานอันซ้ำซ้อนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์อีกโดยไม่จำเป็น ในขณะที่บุคลากรก็มีน้อยและมีภาระงานล้นมืออยู่แล้ว
ในต่างประเทศที่มีระบบประกันสุขภาพของรัฐบาลที่มีให้ประชาชนนั้น จะเห็นได้ว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพของตนเอง เช่นต้องร่วมจ่ายทุกครั้งในการไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาล มีข้อจำกัดว่าในแต่ละปีจะไปพบแพทย์ได้กี่ครั้ง และต้องมีนัดเท่านั้นจึงจะไปตรวจรักษากับแพทย์ได้ ยกเว้นกรณีป่วยหนักและฉุกเฉินเท่านั้นจึงไม่ต้องนัด
การที่ต้องมีกฎเกณฑ์เช่นนี้ก็เพราะต้องการให้ประชาชนมี "หน้าที่" ที่จะต้องรับผิดชอบดูแลสร้างเสริมสุขภาพและมีพฤติกรรมที่สร้างสุขภาพและป้องกันโรคของตนเองด้วย เพื่อจะได้มีสุขภาพแข็งแรง ลดจำนวนการเจ็บป่วย ซึ่งจะช่วยลดภาระงานการรักษาพยาบาลละลดภาระงบประมาณที่ต้องใช้ในการรักษาการเจ็บป่วยของประชาชน
รัฐบาลควรจะจัดงบประมาณในการสร้างสุขภาพและส่งเสริมประชาชนให้
สร้างสุขภาพ ป้องกันโรคและสามารถรักษาพยาบาลเบื้องต้นได้เองอีกด้วย เพื่อลดภาระการไปใช้บริการโรงพยาบาล
เช่นในประเทศอังกฤษ ก็มีข่าวว่าจะไม่ให้สิทธิการรักษามะเร็งปอดในผู้สูบบุหรี่ ประชาชนสามารถไปพบแพทย์ตามนัดเท่านั้น และประชาชนต้องไปพบแพทย์ทั่วไปก่อน และแพทย์เท่านั้นที่จะส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามความจำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่เป็นหวัดก็ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจได้เลย
ส่วนประเทศไทยให้สิทธิในการรักษาแต่ยังไม่มอบให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วยเลย ควรพิจารณาแก้ไขในส่วนนี้ด้วย เช่นกินเหล้าเมาทำร้ายกัน ก็ได้รักษาฟรี อย่างนี้ ควรจะเก็บเงินคนเมาเป็นค่ารักษาตัวเองและคนที่ตนทำร้ายด้วย เพื่อประหยัดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลจากเงินภาษีปะชาชน
สรุปข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการประหยัดงบประมาณในการประกันสุขภาพประชาชน
1.ตรวจสอบสปสช. ทำไมใช้งบประมาณบริหารมากมายมหาศาลกว่ากองทุนอื่นๆ แต่โรงพยาบาลได้เงินไม่พอใช้ และระบบสับสนอลหม่าน เตียงไม่มี ฟ้องร้องมากขึ้น ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล
2.แก้ปัญหาความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมในหมู่ประชาชนในการได้รับสิทธิประกันสุขภาพและให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการ "ประกันสุขภาพของตนและครอบครัว"
3.พัฒนาโรงพยาบาลให้มีคุณภาพมาตรฐาน ไม่ขาดคน ไม่ขาดงบประมาณ บริการมีประสิทธิภาพ ประชาชนปลอดภัย บุคลากรมีเวลาทำงานตามมาตรฐานไม่ต้องให้ประชาชนรอนาน
เอกสารอ้างอิง
(1) หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 2552 หน้า 1 และ 4
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น