วิกฤตเป็นโชคอย่างหนึ่ง…ข้อคิดเพื่อการพ้นทุกข์
ทศพนธ์ นรทัศน์
thossaphol@ictforall.org
เป็นธรรมดาของโลกที่มนุษย์ทุกคนต่างต้องประสบกับทุกข์และสุขครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย จะมากหรือน้อยก็แตกต่างกันไปตามแต่กรรมที่ตนได้ทำมา หลายต่อหลายคนก็หาทางออกด้วยการทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตายเพียงเพราะคิดว่าเมื่อตายแล้วทุกข์ก็จะหายไป แต่เขาเหล่านั้นหารู้ไม่ว่าการมีชีวิตอยู่นั้น จะสามารถทำอะไรดีๆ ให้กับชีวิตได้มากกว่าเพราะยังมีสิ่งดีๆ ที่เรายังค้นไม่พบรออยู่ข้างหน้ามากมาย ผู้เขียนรู้สึกเสียดายทุกครั้งที่ได้ยินข่าวนักศึกษาหลาย คนที่มีผลการเรียนดีแต่ฆ่าตัวตายเพียงเพราะมีผลการเรียนบางส่วนไม่ดี นักธุรกิจหลายคนที่ประสบปัญหาวิกฤตก็หาทางออกด้วยการฆ่าตัวเอง หรือฆ่าคนในครอบครัวเพื่อหนีปัญหา หรือความทุกข์ที่ประสบอยู่ ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นความคิดและทางออกที่ผิดโดยสิ้นเชิง
ในความเป็นจริงแล้วเพียงเรารู้เท่าทันทุกข์และสุข รู้ว่าใดๆ ในโลกนี้ล้วนเป็นสิ่งสมมติ และมีความคิดในเชิงบวก (Positive Thinking) เราก็จะสามารถดำรงชีวิตในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข มีโอกาสและช่องทางมากมายที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จ เพราะหนทางสู่ความสำเร็จของแต่ละคนย่อมมีความเป็นหนึ่งเฉพาะตัว ไม่ใช่การนำตนเองไปเปรียบเทียบกับความสำเร็จของใครคนใดคนหนึ่ง หลายคนที่เป็นทุกข์ก็เพราะการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อน หรือคนรอบข้าง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นเพื่อนร่วมงานมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หากเราคิดว่าจะต้องเอาชนะเขา ความทุกข์ก็คงเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย แต่หากเรามองหาทางเดินในอีกทางหนึ่งที่เราคิดว่าเราทำได้ดีที่สุด มันก็จะนำเราไปสู่ความสำเร็จได้โดยไม่ทำให้ตนเองทุกข์ใจและไม่ทำให้คนอื่นต้องทุกข์ตามไปด้วย
ดร.จอห์น เอฟ. ดีมาร์ตินี่ (Dr.John F. Demartini)
ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านหนังสือ The Breakthrough Experience ของ ดร.จอห์น เอฟ. ดีมาร์ตินี่ (Dr.John F. Demartini) ซึ่งได้รับการแปลเป็นไทยโดย เอกชัย อัศวนฤนาท โดย ดร.จอห์น ดีมาร์ตินี่ ได้กล่าวถึงมุมมองสู่การพ้นทุกข์และการเผชิญหน้ากับภาวะวิฤติของชีวิตได้อย่างรู้เท่าทันความเป็นจริง และสร้างโอกาสสู่ความสำเร็จจากวิกฤตินั้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่านั้นคือความจริงที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จและดำรงชีวิตในโลกนี้อย่างมีความสุข ดร.จอห์น ดีมาร์ตินี่ (2552: 14-18) ได้กล่าวไว้ว่า "ทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็นส่วนสำคัญของระเบียบอันศักดิ์สิทธิ์ที่ไลบ์นิซ, ไอน์สไตน์,เซนต์ออกัสติน รวมทั้งปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายรู้ซึ้งเป็นอย่างดี แม้แต่เรื่องเลวร้ายที่สุดก็มักมีสิ่งดีๆ ซ่อนอยู่ ผู้มีปัญญารู้ดีถึงความจริงอันยิ่งใหญ่นี้และไม่ทุกข์ร้อนกับเหตุการณ์ต่างๆ ขณะที่คนปัญญาน้อยจะสุขทุกข์ไปตามประสบการณ์ด้านดีร้ายที่ตัวเองได้พบจนกว่าจะเข้าใจมันอย่างถ่องแท้
สิ่งที่คนเราขาดแคลนในสมัยเด็ก มักกลายเป็นสิ่งที่เขาใฝ่ฝันหรือเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากได้เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ โรคภัยไข้เจ็บในวัยเด็กมักสร้างนักกีฬาหรือนักบำบัดผู้ยิ่งใหญ่ขึ้น คนที่คิดว่าตัวเองไม่ได้รับความรักจะหาทางแบ่งปันความรักให้กับผู้อื่นอย่างสุดหัวใจไม่ตลอดชีวิต คนที่รู้สึกไม่มีค่าจะเกิดแรงผลักดันอันทรงพลังที่จะทำประโยชน์ให้กับโลกเพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีค่า คนที่เคยมีชีวิตอย่างยากจนค้นแค้นจะสะสมเงินทองจำนวนมาก สิ่งที่ทำให้รู้สึกขาดแคลนจะทำให้เกิดค่านิยม เราถูกโปรแกรมให้ค้นหาสิ่งที่เราคิดว่าเราขาดแคลนมากที่สุด
แม้ว่าตอนนั้นผมจะไม่รู้เรื่องแบบนี้ "เรื่องเศร้า" ของความบกพร่องในการเรียนละการอ่านได้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผมมีอิสระในการทำตามความฝันและพบปะกับผู้คนจำนวนมากที่พิเศษเหมือนผมซึ่งได้กลายเป็นผู้นำทางให้กับชีวิตของผม ผมค้นหาความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำในสิ่งที่ผู้คนบอกผมว่าทำไม่ได้ ผู้คนบอกว่าผมจะไม่สามารถอ่าน เขียนหรือสื่อสารกับใคร แต่ทุกวันนี้ผมใช้เวลาว่างกว่า 300วันในแต่ละปีเดินทางทั่วโลกเพื่อทำในสิ่งนั้น
การมีปัญญาคือการรู้ได้ในทันทีว่าวิกฤตเป็นโชคอย่างหนึ่งและยิ่งเป็นสติปัญญาที่สูงขึ้นที่จะรู้ว่าโชคก็สามารถทำให้เกิดวิกฤตได้เช่นกัน ถ้าเรารู้ได้เช่นนั้น เราจะไม่โมโหเวลาที่เผชิญกับความยากลำบากหรือดีใจที่ได้พบกับโชคดี เราจะยังคงตั้งมั่นที่ตรงกลางไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นรอบตัวเรา นั่นเป็นความลับข้อหนึ่งของการเอาชนะตัวเอง
เมื่อคุณรู้แล้วว่าเรื่องเลวร้ายไม่ได้น่ากลัวเช่นนั้น และเรื่องดีๆก็ไม่ได้ยอดเยี่ยมเท่าไหร่นัก คุณจะสามารถซาบซึ้งในบุญคุณทุกเรื่องที่เกิดขึ้น จุดสมดุลไม่ใช่การโมงโลกในแง่ดีหรือร้าย มันยืนหยัดมั่นคงอยู่ตรงกลางโดยไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง มันเป็น "ความซาบซึ้งรู้คุณ"และนั้นเป็นทั้งสติปัญญาและพลังอำนาจอันแท้จริงสรรพสิ่งล้วนอยู่สมดุล และเมื่อคุณรู้แล้ว คุณจะจริงใจกับตัวเองแทนที่จะทำอะไรด้วยความหวังหรือความกลัว คุณจะยังดำรงอยู่บนวิถีชีวิตของคุณต่อไป
เมื่อคุณปรุงแต่งว่าเหตุการณ์ต่างๆ ดีหรือเลว และพยายามแสวงหามายาภาพของสิ่งที่คิดว่าดีกว่า คุณจะไม่มีวันดำรงอยู่หรือไม่มีวันพอใจกับชีวิตของคุณในแบบที่มันเป็น คุณจะคิดว่า สักวันหนึ่ง ฉันจะหาทางทำให้ลูกและเมียของฉันรู้ว่าฉันรักพวกเขามากเพียงใด สักวันหนึ่งเมื่อทุกอย่างดีขึ้น ฉันจะเริ่มทำธุรกิจนั้น เดินทางไปที่นั่น หรือเขียนหนังสือเรื่องนั้น คุณมีชีวิตอยู่บนหมู่เกาะที่ชื่อ 'สักวันหนึ่ง' ซึ่งมันไม่มีอยู่ในเรื่องจริง
นโปเลียน ฮิลล์ ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Think and Grow Rich เคยกล่าวไว้ว่า "อย่ามองหาโอกาสที่ไกลออกไปในกาลและอวกาศแต่จงชื่นชมมันจากสิ่งที่คุณมีอยู่ เพราะสิ่งที่คุณมีอยู่เป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบและมีความสมดุลอยู่แล้ว" ณ นาทีนี้ คุณมีทุกสิ่งทุกอย่างที่เติมเต็มชีวิตของคุณแล้ว
วัตถุประสงค์ข้อนึงของสัมมนาประสบการณ์เปลี่ยนชีวิตคือต้องการช่วยให้คุณมองเห็นจุดสมดุลที่คุณมีอยู่ด้วยตาในของคุณ เมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกซาบซึ้งรู้คุณอย่างแท้จริง คุณได้ตื่นขึ้นจากความหลับไหลแล้ว
การค้นพบอันยิ่งใหญ่ ในการค้นหาหลักการที่เป็นเหตุเบื้องหลังแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์และความสำนึกรู้ ผมพบสิ่งที่เรียกว่าการค้นพบอันยิ่งใหญ่ (the Great Discovery™) โดยบังเอิญ แต่ละช่วงในชีวิตของคุณ คุณจะไม่มีวันลุกขึ้นโดยไม่ล้มลงก่อน หรือตกต่ำโดยไม่ดีขึ้น บวกแล้วก็ลบ ดีแล้วก็แย่ สรรเสริญแล้วก็ให้ร้าย สงบแล้วก็วุ่นวาย ทุกอย่างล้วนมาด้วยกันเป็นคู่ มันสลับกันไปอย่างสมดุลโดยไม่มีที่ติ และนั่นคือสิ่งที่เรียกว่าระเบียบอันศักดิ์สิทธิ์
ทีแรก นี่อาจเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่น่าตื่นเต้นแต่เมื่อคุณเข้าใจอย่างถ่องแท้ คุณจะพบว่ามันเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างแท้จริงถ้าคุณเห็นอะไรพียงด้านเดียวโดยไม่เห็นอีกด้านหนึ่งชีวิตของคุณกำลังถูกบดบังด้วยมายาภาพ จงหยุดมันตั้งแต่บัดนี้และคิดทบทวนชีวิตของคุณให้ดี นึกถึงยามที่คุณถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือถูกทำให้อับอาย จดจำช่วงเวลาและบุคคลหรือกลุ่มคนอันจำเพาะนั้นไว้ เมื่อคุณรำลึกถึงช่วงเวลาเฉพาะที่ถูกทำให้อับอายนั้นได้ ใคร่ครวญดูอีกครั้งแล้วเราจะพบว่าในเวลาเดียวกันที่คุณถูกทำให้อับอายนั้น มีบางคน (หรืออาจเป็นตัวคุณเอง) กำลังดึงคุณขึ้นมาหรือยกย่องคุณอยู่ นอกจากนั้น ทุกครั้งที่คุณได้รับการยกย่อง ก็เป็นเวลาเดียวกันที่มีบางคนว่าร้ายหรือกำลังดูถูกคุณอยู่ การมีปัญญาจะเป็นเครื่องบอกให้คุณรู้ว่าทั้งสองด้านเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กันและเท่าเทียมกัน
เราทุกคนอยู่ในโลกที่มีสองด้าน เราทุกคนต่างก็มีสองบุคลิกเรามีด้านหนึ่งยกให้สูงขึ้นและอีกด้านหนึ่งดึงเราให้ต่ำลง เรายกย่องและตำหนิตัวเราเอง ไม่มีใครทำให้เราได้ดีหรือตกต่ำได้มากเท่ากับตัวเราเอง เพราะไม่มีใครทำให้เราได้ดีหรือตกต่ำได้มากเท่ากับตัวเราเอง การปฏิบัติของคนอื่นที่มีต่อเราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเราที่ถูกกดทับเอาไว้ ไม่มีใครเอาเปรียบเรา พวกเขาเพียง 'สะท้อน' สิ่งที่เป็นตัวเรา
ครั้งหนึ่ง ผมเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับแพทย์ผู้หนึ่งในลอสแองเจลิส ซึ่งบอกว่า "จอห์น ผมต้องการคำแนะนำ ผมถูกคนไข้ปฏิเสธการรักษาติดๆ กันมาหลายคน พวกเขาบอกว่าไม่อาจรับการรักษาพยาบาลนานขนาดนั้นได้ทั้งที่มันเป็นเรื่องจำเป็น"
"แล้วคุณตอบพวกเขาว่าอย่างไรล่ะ" ผมถาม
"ก็เนี่ยแหละ ผมไม่รู้ว่าจะตอบว่ายังไง และผมก็เสียคนไข้ไปเรื่อยๆ ผมมาหาคุณก็เพื่อขอคำปรึกษาไง"
เขาวางแผนการรักษาพยาบาลให้กับคนไข้ของเขาซึ่งได้ผลดีมาแล้วเป็นเวลาหลายเดือน แต่แล้วจู่ๆ เขาก็ถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมรู้ดีว่าโลกนี้เป็นกระจกเงาสะท้อนอะไรบางอย่าง ดังนั้น จึงถามเขาว่า "ทำไมคุณถึงล้มเลิกการแต่งงานทั้งที่คบกันมาตั้งนานแล้ว"
เขาเพิ่งตกลงใจที่แต่งงาน เขารักผู้หญิงคนนั้นมาก และด้านหนึ่งในตัวเขาบอกว่าเขาต้องแต่งงานกับผู้หญิงคนนั้นให้ได้ แต่เขาก็กลัวเพราะเขาเคยพบความผิดพลาดมาก่อน สัปดาห์เดียวกับการที่เขาล้มเลิกการแต่งงานกับเธอ เขาเริ่มได้รับการปฏิเสธแบบเดียวกันนั้นจากคนไข้ของเขา ความกลัวการแต่งงานของเขามาจากเรื่องเงินทอง ดังนั้น เมื่อผมช่วยหาทางออกเรื่องการแต่งงานของเขาก็หมดไปและคนไข้ของเขาก็เริ่มหยุดปฏิเสธเขา "ปัญหา" ด้านการเงินของเขาช่วยให้เขาเข้าใจและเอาชนะความกลัวในเรื่องชีวิตคู่ และเปิดหัวใจของเขาให้กับผู้หญิงที่เขารัก
ผู้คนปฏิบัติต่อคุณเหมือนกับที่คุณปฏิบัติต่อตัวเองแบบไม่รู้ตัว ท่าทีที่พวกเขาแสดงต่อคุณสะท้อนท่าทีภายในที่คุณมีต่อตัวคุณ คือการรู้ซึ้งในสิ่งที่คุณเชื่อและรู้สึกเกี่ยวกับตัวเอง คนส่วนมากดำเนินชีวิตโดยขาดสติและไม่รู้สึกตัว พวกเขามีชีวิตรุ่งเรืองและตกต่ำ มีอารมณ์ที่ขึ้นๆลงๆไปตามสถานการณ์ แต่ไม่สามารถมองเห็นความสมดุลและระเบียบอันศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งไม่รู้ว่าตัวเองถูกห้อมล้อมด้วยความรักอยู่ตลอดเวลา วัตถุประสงค์ของผมคือการทำให้คุณรู้ว่าคุณมีความรักอันแสนวิเศษอยู่รอบตัวในทุกขณะของชีวิต..."
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ดร.จอห์น เอฟ. ดีมาร์ตินี่ ได้นำแนวคิดนี้มาจากหลัก "อุเบกขา" (ภาษาบาลี: อุเปกขา ภาษาสันสกฤต: อุเปกษา) ในพระพุทธศาสนาอันหมายถึง ความความวางเฉยแบบวางใจเป็นกลางๆ โดยไม่เอนเอียงเข้าข้างเพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลงและเพราะกลัว เช่นไม่เสียใจเมื่อคนที่ตนรักถึงความวิบัติ หรือไม่ดีใจเมื่อศัตรูถึงความวิบัติ มิใช่วางเฉยแบบไม่แยแสหรือไม่รู้ไม่ชี้ ทั้งๆ ที่สามารถช่วยเหลือได้เป็นต้น อันเป็นหลักที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้วางไว้เมื่อ 2500 กว่าปีล่วงมาแล้ว (พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช), 2552: ออนไลน์)
ในโพชฌงค์ ได้กล่าวว่า "...อุเบกขามีเหตุประกอบด้วยทั้งสัมมาสติ สัมมาสมาธิและสัมมาปัญญาอันยิ่ง กล่าวคือ การมีสติรู้เท่าทัน พร้อมทั้งปัญญาหรือปรีชาที่แจ่มแจ้ง ดังเช่น เข้าใจในความเป็นเหตุปัจจัย ที่เมื่อมีการปรุงแต่งย่อมเกิดเวทนา หรือเห็นความไม่เที่ยงเมื่อไปยึดไปอยากย่อมเป็นทุกข์ ฯลฯ มีสติเห็นตามความเป็นจริงดังนี้แล้วจึงอุเบกขาเป็นกลาง กล่าวคือเมื่อเกิดความรู้สึก (Feeling) คือ เกิดเวทนาอย่างไรก็ตาม เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ ก็เป็นไปอย่างนั้นตามธรรมหรือธรรมชาติ แต่เป็นกลาง ที่เกิดขึ้นด้วยเจตนาตั้งใจ ตั้งมั่น โดยการสำรวมคือการระวัง ไม่เอนเอียง ไม่แทรกแซง ไม่ไปปรุงแต่งคือฟุ้งซ่านไปในธรรมคือสิ่งนั้นๆ ที่สติรู้เท่าทันตามความเป็นจริง..." (อุเบกขาแบบต่างๆ, 2552: ออนไลน์)
นอกจากนี้ ยังมีความสอดคล้องกับหลัก "โลกธรรม 8" (Worldly Conditions) อันหมายถึง เรื่องของโลกซึ่งมีอยู่ประจำกับชีวิต สังคมและโลกของมนุษย์ เป็นความจริงที่ทุกคนต้องประสบด้วยกันทั้งนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม อยู่ที่ว่า ใครจะประสบมาก หรือประสบน้อยช้าหรือเร็วกว่ากัน โลกธรรม แบ่งออกเป็น 8 ชนิด จำแนกออกเป็น 2 ฝ่ายควบคู่กัน ซึ่งมีความหมายตรงข้ามกัน คือ ฝ่ายอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าปรารถนา และฝ่ายอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ดังนี้
โลกธรรมฝ่ายอิฏฐารมณ์ คือ ฝ่ายที่มนุษย์พอใจมี 4 เรื่อง คือ
1. ได้ลาภ คือ ได้ผลประโยชน์ ได้ทรัพย์สินเงินทอง ได้บ้านเรือนหรือที่สวน ไร่นา
2. ได้ยศ คือ ได้รับแต่งตั้งให้มีฐานันดรสูงขึ้น ได้ตำแหน่ง ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต
3. ได้รับสรรเสริญ คือ ได้ยิน ได้ฟัง คำสรรเสริญคำชมเชย คำยกยอ
4. ได้สุข คือ ได้ความสบายกาย สบายใจ ได้ความเบิกบาน ร่าเริง ได้ความบันเทิงใจ
โลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์ คือ ฝ่ายที่มนุษย์ไม่พอใจมี 4 เรื่อง คือ
1. เสียลาภ คือ ลาภที่ได้มาแล้วเสียไป
2. เสื่อมยศ คือ ถูกลดความเป็นใหญ่ ถูกถอดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดอำนาจ
3. ถูกนินทา คือ ถูกตำหนิติเตียนว่าไม่ดี ถูกผู้อื่นพูดถึง ความไม่ดีของเราในที่ลับหลังเรียกว่าถูกนินทา
4. ตกทุกข์ คือ ได้รับความทุกข์ทรมานกายทรมานใจ หรือจิตใจ
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรแน่นอน ไม่มีอะไรเป็นตัวของเราเอง ไม่มีใครในโลกนี้จะพบแต่ความสมหวังตลอดชีวิต จะต้องพบกับคำว่าผิดหวังบ้าง ผู้มีปัญญาได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างดีแล้ว พึงทำใจเอาไว้กลางๆ ว่า มีคนนินทา ก็ต้องมีคนสรรเสริญ มีสุขก็ต้องมีทุกข์ มีลาภย่อมเสื่อมลาภ มียศก็ย่อมเสื่อมยศ หากเราหวังอะไรเกินเหตุ เมื่อเวลาเราผิดหวัง ไม่สมหวัง ให้ทำใจไว้ว่านั่นคือโลกธรรมทั้ง 8 คือ มีได้ก็ต้องเสื่อมได้ เป็นของธรรมดาในโลกนี้ ไม่ว่าสัตว์หรือบุคคลใด ก็ย่อมหนีสิ่งเหล่านี้ไปไม่พ้น เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ย่อมหนีสิ่งเหล่านี้ไปไม่พ้นอย่างแน่นอน เพราะเมื่อไม่สมปรารถนาที่ตัวเองคิดไว้ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียอกเสียใจ รำพึงรำพันกับตัวเองถึงความไม่สมหวัง จะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์มาก เพราะฉะนั้น จงใช้สติปัญญาหมั่นพิจารณาอยู่เนืองๆ ว่า สิ่งใดมีเกิดขึ้น ก็ต้องมีเสื่อมไปเป็นของธรรมดา เหมือนโลกธรรมทั้ง 8 ประการ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ทุกคนจะต้องตกอยู่ในโลกธรรม 8 กันถ้วนหน้า จะได้ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างเป็นสุข" (วัดประยุรวงศาวาส, 2552: ออนไลน์)
เมื่อรู้เราได้รู้ว่าทุกข์และสุขเป็นธรรมดาของชีวิต ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า "กมฺมุนา วตฺตตีโลโก หรือ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม" อันหมายความว่า คนและสัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นไปต่างๆ นานา ทุกข์ก็มี สุขก็มี ดีก็มี ชั่วก็มี มิได้เกิดแต่ผู้ใดอื่น มิได้เกิดแต่อะไรอื่น มิใช่เกิดแต่เหตุใดทั้งนั้น นอกจากกรรมที่ตนได้กระทำแล้วเองเท่านั้น (ธรรมจักร, 2552: ออนไลน์) การรู้เท่าทันความจริงของทุกข์และสุขที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างมีสติว่าเป็นเพียงสิ่งสมมติ เมื่อเราเกิดทุกข์ก็พยามมองหาโอกาสที่เป็นโชคดีจากเหตุแห่งความทุกข์นั้น มิใช่การคิดถึงแต่แง่ลบที่เลวร้าย การปรุงแต่งและฟุ้งซ่านไปต่างๆ นานา จนดูเหมือนว่าชีวิตมืดมนไร้ทางออก หมดอนาคต ฆ่าตัวตายดีกว่าซึ่งเป็นวิถีทางที่ไม่ถูกต้องเพราะนอกจากจะเพิ่มความทุกข์ให้ตนเองแล้ว ยังทำให้บุคคลรอบข้างและคนที่รักเรา ปรารถนาดีต่อเราพลอยได้รับทุกข์ตามไปด้วย แต่หากเรารู้เท่าทันเหตุแห่งทุกข์ มองเห็นโอกาสและโชคดีที่แฝงในทุกข์นั้น ทำให้เราได้คิดทบทวน วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ความสามารถสู่ความสำเร็จในตัวเราได้มากขึ้น แน่นอนว่าบางเรื่องก็ต้องใช้ความอดทนต่อความเจ็บปวดทางด้านจิตใจอย่างสูงยิ่ง แต่เราก็ต้องตระหนักว่านั้นคือกรรมในอดีตที่เราต้องชดใช้ ถ้าเราเชื่อในกฎแห่งกรรมเราก็ต้องยอมรับความเจ็บปวดนั้น และตั้งใจทำดีในวันนี้อย่างไม่ย่อท้อ แล้วโอกาสและความสำเร็จในวิถีทางของแต่ละคนก็มีอยู่อย่างมากมายสำหรับทุกคนบนโลกนี้<
อ้างอิง
จอห์น เอฟ. ดีมาร์ตินี่, (ผู้เขียน), เอกชัย อัศวนฤนาท, (ผู้แปล). (2552). ประสบการณ์เปลี่ยนชีวิต The Breakthrough Experience. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ต้นไม้.
ธรรมจักร. (2552). สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม. http://www.dhammajak.net/book-somdej4/10.html ค้นคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2552.
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช), ป.ธ. 9 ราชบัณฑิต. (2548). พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด : กรุงเทพฯ: วัดราชโอรสาราม อ้างถึงใน http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9
%80%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%B2 ค้นคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2552.
วัดประยุรวงศาวาส. (2552). โลกธรรม 8 , บอรด์ธรรมะวัดประยุรวงศาวาส. http://www.oknation.net/blog/mettapc/2009/07/11/entry-1 ค้นคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2552.
อุเบกขาแบบต่างๆ. (2552). http://www.nkgen.com/378.htm ค้นคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2552.
http://www.inspireyourday.com.au/images/aboutjohn.jpg ค้นคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2552.
From: ICT for All Club <ictforall.th@gmail.com>
Date: ส.ค. 27, 2009 12:04 หลังเที่ยง
Subject: บทความวิชาการ "วิกฤตเป็นโชคอย่างหนึ่ง…ข้อคิดเพื่อการพ้นทุกข์"
To:
--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.parent-youth.net
http://www.familynetwork.or.th
http://sph.thaissf.org/
http://www.presscouncil.or.th
http://ilaw.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://icann-ncuc.ning.com
http://dbd-52.hi5.com
http://www.webmaster.or.th
http://www.thailandshowtime.com/2009
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น